วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การจัดงานเทศน์มหาชาติ


งานเทศน์มหาชาติ
งานเทศน์มหาชาตินี้ นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว อาจทำในวันขี้น ๘ ค่ำกลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘ ค่ำก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า "งานบุญผะเหวด" ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ ก็มี งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน ๑๐
การเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังตำนานต่อไปนี้
ตำนานเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์
การเทศน์มหาชาติ คือการมหากุศลที่เตือนบุคคลให้น้อมรำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลประโยชน์สูงอันไพศาลของมวลมนุษยชาติเป็นสำคัญเป็นเทศกาลที่คงความหมายอย่างแท้จริง
การเทศน์ทุกกัณฑ์จะมีผู้เป็นเจ้าภาพจัดกัณฑ์เทศน์ถวาย เมื่อพระที่ตนรับกัณฑ์เทศน์ขึ้นเทศน์เจ้าภาพจะจุดเทียนบูชาคาถาหว่านข้าวตอกข้าวสาร การเทศน์ในสมัยก่อนพระเจ้าของกัณฑ์จะอ่านจากอักษรธรรม(อักษรลาว) ซึ่งจารลงบนใบลานเป็นแผ่นยาว คำว่า "จาร" มาจากภาษาเขมรแปลว่า การเขียนด้วยเหล็กแหลมบนใบลาน แต่ปัจจุบันจะนิยมพิมพ์ลงบนใบลานเป็นตัวหนังสือไทยปัจจุบัน เป็นเรื่องราวในแต่ละกัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกสำหรับพระรุ่นใหม่ เมื่อจบกัณฑ์จะตีฆ้องเป็นสัญญาณ